มูลนิธิ ฮารนามซิงห์ ฮารบันส์กอร์ (สัจจเทพ)
(Harnam Singh Harbans Kaur Sachdev Foundation)
มูลนิธิ ฮารนามซิงห์ ฮารบันส์กอร์ (สัจจเทพ) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อย่อว่า มูลนิธิ สัจจเทพ ก่อตั้งขึ้นโดย นายกูรมัคซิงห์ และนางมินเดอร์ กอร์ สัจจเทพ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่นายฮารนามซิงห์ และนางฮารบันส์กอร์ สัจจเทพ บิดามารดาของนายกูรมัคซิงห์ สัจจเทพ โดยมีวัตถุประสงค์โดยสังเขปคือเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตกทุกข์ได้ยาก สงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ยากจนรวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมด้านการศึกษา มูลนิธิสัจจเทพได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง เลขที่ ค.๑๘๒/๒๕๒๖ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยผู้ก่อตั้งทั้งสองคือนายกูรมัคซิงห์ และนางมินเดอร์ กอร์ สัจจเทพ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการมูลนิธิ ตามลำดับ สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓๓/๑ อาคารโรงเรียนมินเดอร์พัฒนาศึกษา ชั้นที่ ๔ ถนนพัฒนาการ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิฮารนามซิงห์ ฮารบันส์กอร์ (สัจจเทพ) ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การ หรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๙๐ ของประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๙๕) ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘
เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้คณะกรรมการมูลนิธิฮารนามซิงห์ ฮารบันส์กอร์ (สัจจเทพ) เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในโอกาสนั้น ได้มีพระราชกระแสกับคณะของมูลนิธิว่า “เมื่อมีใจกุศล ชอบทำบุญ ก็จะให้ไปช่วยถวายงานกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีโครงการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารที่จะต้องทำมากมาย และยังต้องการรับการสนับสนุนอีกมาก” ด้วยเหตุนี้ นับจากนั้นเป็นต้นมา มูลนิธิสัจจเทพ จึงได้เข้าถวายงานรับผิดชอบสนับสนุนโครงการส่วนพระองค์ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารหลายแห่ง อาทิเช่น โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมา พึ่งบารมี อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร โรงเรียนบ่อหลวงวิทยาธรรม อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โรงเรียนบ้านคีรีราษฎร์รังสฤษดิ์ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังได้รับการแต่งตั้งจากสำนักพระราชวังให้เป็นคณะทำงาน ผู้ตรวจการก่อสร้างและผู้ควบคุมงานโครงการก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗
จากการที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้มีโอกาสถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโครงการด้านการศึกษาต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเริ่มสานต่อความฝันและความตั้งใจที่มีมานานกว่า ๓๐ ปีที่จะส่งเสริมด้านการศึกษาโดยการจัดตั้งโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิเอง โดยมีที่ดินที่เตรียมเพื่อจัดสร้างโรงเรียนในที่ดินของมูลนิธิไว้แล้ว การก่อสร้างโรงเรียนเริ่มในปี พ.ศ.๒๕๕๔ และในปี พ.ศ.๒๕๕๖ โรงเรียนที่มูลนิธิจัดตั้งจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญศึกษาภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และจากการเคลื่อนไหวให้มีการรวมประเทศในกลุ่มอาเซียนให้เป็นประชาคมเดียวในปี พ.ศ.๒๕๕๘ จึงถือเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะจัดตั้งโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (ENGLISH PROGRAM) เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ชื่อโรงเรียนมินเดอร์พัฒนาศึกษาถูกตั้งตามชื่อของนางมินเดอร์ กอร์ สัจจเทพ ซึ่งเป็นภริยาและมารดาอันเป็นที่ รักยิ่งของครอบครัวสัจจเทพ และเป็นแบบอย่างของผู้ที่อุทิศตนทำงานด้านสาธารณกุศล
โดยเฉพาะด้านการให้ศึกษาแก่เยาวชนซึ่งนางมินเดอร์ กอร์ สัจจเทพ มีความเชื่อว่าการพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนที่มีคุณภาพจะต้องพัฒนาทั้งด้านความรู้ควบคู่ไปกับด้านศีลธรรม จริยธรรมด้วย จึงจะสามารถดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันได้